วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๔๕.๑๔ ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถานกว่า ๒๐๐ แห่ง โดยแบ่งออกเป็น ๕ พื้นที่ มีโบราณสถานที่สำคัญ ดังนี้
 
  โบราณสถานภายในกำแพงเมือง
 วัดช้างล้อม
               มีเจดีย์ประธานทรงระฆัง   ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช้างเต็มตัวก่อด้วยศิลาแลงปูนปั้นประดับโดยรอบฐานทั้งสี่ด้าน จำนวน ๓๙ เชือก   ด้านหน้าเจดีย์ประธานมีบันไดขึ้นสู่ลานประทักษิณ  เหนือฐานประทักษิณมีซุ้มพระพุทธรูปปางมารวิชัย ๒๐ ซุ้ม และที่ก้านฉัตรประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน ๑๗ องค์

               ช้างล้อมที่เมืองศรีสัชนาลัย มีลักษณะเด่นกว่าช้างล้อมที่วัดอื่น ๆ คือ ยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดใหญ่สูงกว่าช้างจริง และด้านหน้ามีพุ่มดอกบัวปูนปั้นประดับไว้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า วัดช้างล้อมนี้น่าจะเป็นวัดที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงไว้ว่า ในปีพุทธศักราช ๑๘๒๘ พ่อขุนรามคำแหงให้ขุดเอาพระธาตุขึ้นมาทำบูชาและเฉลิมฉลอง จากนั้นจึงฝังลงในกลางเมืองศรีสัชนาลัย และก่อพระเจดีย์ทับลงไป แต่จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดแห่งนี้ พบหลักฐานที่ทำให้กล่าวได้ว่า เจดีย์วัดช้างล้อมน่าจะสร้างขึ้นภายหลังจากกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว วัดช้างล้อมจึงมิน่าจะใช่วัดที่ศิลาจารึกอ้างถึงดังกล่าว

 วัดเจดีย์เจ็ดแถว
               เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลังโดยราษฎรในท้องถิ่น  สาเหตุที่เรียกชื่อนี้เนื่องจากพบเจดีย์จำนวนมากมายหลายแถวภายในวัด  และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระราชวงศ์สุโขทัย

               โบราณสถานสำคัญได้แก่ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือดอกบัวตูมอยู่ด้านหลังพระวิหาร  และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กัน ๓๓ องค์  เจดีย์รายเหล่านี้มีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะต่าง ๆ กัน เช่น เขมร ลังกา และพุกาม

               ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายที่มีลักษณะเด่นคือ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด  ภายในมีซุ้มโถง  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปูนปั้น และมีจิตรกรรมใช้สีแบบเอกรงค์ เป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้า และเหล่าเทวดากษัตริย์ที่มาแวดล้อมถวายดอกไม้ ส่วนซุ้มจรนำด้านหลังมีพระพุทธรูปนาคปรกที่งดงามมาก

 วัดนางพญา
               สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย   เจดีย์ประธานทรงระฆังตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับสลับกับเสาประทีปเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม  ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น  ส่วนองค์ระฆังเป็นห้องโถง   มีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น ตรงกลางมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ด้าน

               วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง  ผนังด้านทิศใต้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม ทำเป็นรูปกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนม ซึ่งเป็นฝีมือช่างชั้นครู จัดอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

 
  โบราณสถานนอกเมืองด้านทิศตะวันออก
 วัดสวนสัก
               โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลงค่อนข้างสมบูรณ์ วิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง กำแพงศิลาแลงล้อมรอบทั้งเจดีย์ประธานและพระวิหาร

วัดป่าแก้วหรือวัด ไตรภูมิป่าแก้ว
               โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารก่อด้วยศิลาแลงฐานที่เหลี่ยมผืนผ้า พระราชพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงวัดนี้ว่า เป็นวัดที่อยู่ของพระสังฆราชวัดป่าแก้ว และยังเป็นนามของสงฆ์นิกายหนึ่งที่มาจากลังกาทวีปด้วย

 
  โบราณสถานนอกเมืองด้านทิศเหนือ
 วัดกุฎีราย
               โบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปท้ายวิหาร ก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นทรงจั่วเลียนแบบเครื่องไม้ หน้าจั่วมีรอยบากเพื่อเชื่อมหลังคาเครื่องไม้ของอาคาร ด้านหน้ามณฑปมีซุ้มประตูรูปโค้งกลีบบัวเป็นทางเข้าสู่ภายในซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูป

  กลุ่มเตาทุเรียงบ้านเกาะน้อย
               อยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย ๕ กิโลเมตร พบเตาตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม โดยกระจายตัวอยู่ทั่วไป เท่าที่สำรวจพบแล้วประมาณ ๒๐๐ เตา กลุ่มเตาเผาที่สำคัญที่ได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นพร้อมทั้งอนุรักษ์และจัดทำอาคารจัดแสดงคือ

               กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๖๑ มีเตาใต้ดิน ๔ เตา เป็นเตาขุดลงไปในดิน ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำหรือของแห้ง

               กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๔๒ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการเตาเผาและสิ่งผลิตจากเตา เพราะภายในใต้ดินนั้นขุดพบเตาเผาสังคโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง ๑๙ เตา

  โบราณสถานนอกเมืองด้านทิศตะวันตก
 วัดพญาดำ
               สาเหตุที่เรียกวัดพญาดำเนื่องจากมีการขุดพบพระพิมพ์นางพญาเนื้อสีดำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ราษฎรแถบนั้นเรียกชื่อวัดว่า วัดพญาดำ

               สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดนี้ประกอบด้วย มณฑปประธานก่อด้วยศิลาแลง มีหลังคาคล้ายรูปประทุนเรือก่อโดยวิธีเรียงศิลาแลงเหลื่อมเข้าหากัน ภายในมณฑปแบ่งเป็นคูหา คูหาด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย แต่ชำรุดไปมากแล้ว คูหาด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูป ๒ หรือ ๓ องค์ ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปยืน  จากภาพถ่ายเก่าพบว่าด้านทิศใต้มณฑปมีเจดีย์รายทรงดอกบัวตูมอยู่ ๑ องค์ ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว พระวิหารอยู่ด้านหน้ามณฑปก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง

วัดพรหมสี่หน้า
               โบราณสถานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  มีสิ่งที่สำคัญคือมณฑปประธาน ทำหน้าที่คล้ายพระวิหาร ตัวมณฑปก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน หลังคาคงเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ วิหารอยู่ด้านหน้ามณฑปก่อด้วยศิลาแลง

               มณฑปยอดเจดีย์มีซุ้มคูหา ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้ง ๔ ด้าน ซุ้มคูหาด้านทิศตะวันออกพบจิตรกรรมฝาผนังเป็นสีเอกรงค์เป็นรูปบุคคลถือดาบ ยอดมณฑปพังทลาย แต่พบชิ้นส่วนยอดมณฑปแบบยอดปรางค์ และส่วนยอดเจดีย์ย่อมุมทรงกลีบมะเฟือง จึงสันนิษฐานว่ามณฑปองค์นี้คงจะมีส่วนยอดเป็นเจดีย์ย่อมุมทรงกลีบมะเฟือง

วัดยายตา
               สิ่งก่อสร้างสำคัญของวัดนี้ประกอบด้วย มณฑปประธานที่มีขนาดสูงและใหญ่ที่สุดในเมืองศรีสัชนาลัย หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผาภายในมณฑปมีแท่นพระประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประทับนั่งขัดสมาธิ วิหารอยู่ด้านหน้าติดกับมณฑป ก่อด้วยศิลาแลง ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลงเจาะเป็นช่องแสง มีซุ้มพระขนาดเล็กก่อด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ด้านหน้ามีแท่นบูชา นอกจากนี้ยังมีที่ปลูกพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้านหน้ามณฑปเป็นรูปแปดเหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงภายในเป็นดิน

วัดเจดีย์เจ็ดยอดหรือเจดีย์เก้ายอด
               เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก เนื่องจากเจดีย์มีหลายยอด มีเจดีย์ประธานทางมณฑปที่มียอดเล็ก ๆ ประดับที่มุมทั้ง ๔ และประดับที่เหนือยอดซุ้มอีก ๔ ซุ้ม รวมกับยอดเจดีย์ประธาน เป็นเก้ายอด

               มณฑปประธานหรือเจดีย์ประธาน ตั้งอยู่บนเชิงเขาบนชั้นหินธรรมชาติที่ปรับแต่งให้เป็นพื้นที่ราบ แล้วก่อเป็นวิหารและเจดีย์มณฑป ภายในคูหามณฑปมีจิตรกรรมฝาผนังและจารึกอักษรธรรมล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑

  วัดสระปทุม
               โบราณสถานที่สำคัญคือมณฑปผนังทึบ ๓ ด้าน ด้านหน้ามีทางเข้าก่อด้วยศิลาแลง รูปหน้าจั่วโค้งแอ่นลงเลียนแบบเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีเจดีย์ทรงระฆังอยู่ด้านหลังมณฑป ฐานแปลกกว่าเจดีย์ทรงระฆังที่พบในเมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากฐานชั้นแรกก็ทำเป็นฐานวงกลมโดยไม่ขึ้นฐานสี่เหลี่ยมเหมือนเจดีย์ทรงกลมองค์อื่น ๆ ที่พบในเมืองศรีสัชนาลัย ในการขุดแต่งได้พบพระพุทธรูปลีลาบุทอง ๒ องค์

               วิหารอยู่ด้านหน้ามณฑป และมีทางเดินปูศิลาแลงตรงไปยังวัดพญาดำ สิ่งก่อสร้างทั้งหมดของวัดนี้ ล้อมรอบด้วยคูน้ำ


  โบราณสถานนอกเมืองด้านทิศใต้
 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
               ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้    นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย    ตรงช่วงแหลมโค้งข้อศอกของแม่น้ำยม เป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ มีสิ่งก่อสร้างหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนสมัยสุโขทัย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องตลอดสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยา ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ สิ่งก่อสร้างสำคัญ มีดังนี้

               ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูนเสร็จแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยา ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์ ภายในมีสถูปรูปดอกบัวตูมขนาดเล็กโผล่ขึ้นมา ซึ่งเป็นหลักฐานว่ามีการสร้างครอบทับ ที่ผนังภายในองค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยของจิตกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมากแล้ว

               ฐานพระวิหารหลวงพ่อโต อยู่ด้านหน้าปรางค์ประธาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัยประทับอยู่ตรงกลาง ขนาบด้วยพระพุทธรูปขนาดเล็กประทับยืนทั้ง ๒ ข้าง ถัดจากพระพุทธรูปปางมารวิชัยทางด้านขวา มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงามมาก

               กำแพงวัด เป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๖๐x๙๐ เมตร มีคานทับหลังกำแพง มีทางเข้าออกหน้า – หลัง   เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอด  มีปูนปั้นเป็นรูปพระพักตร์อวโลกิเตศวร ๔ พักตร์ ตามแบบซุ้มประตูเมืองพระนครหลวงของกัมพูชา

               พระธาตุมุเตา ก่อด้วยศิลาแลงฐานเป็นเหลี่ยมซ้อนกัน ๔ ชั้น ต่อจากนั้นเป็นบัวถลา ๓ ชั้น ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปพังทลายลงมาหมด ลักษณะพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ

               มณฑปพระอัฏฐารศ อยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ หลังคามุงกระเบื้องเครื่องไม้ ต่อมาพระพุทธรูปในอิริยาบถอื่นๆ ๓ องค์ได้ชำรุดคงซ่อมแซมดัดแปลงที่เหลือเป็นพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้มคูหาองค์เดียว

               ความสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียงหรือศรีสัชนาลัย ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรี-นาวนำถุม เป็นต้นมา โดยมีหลักฐานยอดซุ้มประตูทางเข้าวัดซึ่งมีลักษณะศิลปะแบบบายน และหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่พบจากศาสนสถานก่ออิฐอยู่ใต้วิหารหลวง และวิหารสองพี่น้อง โดยมีศิลปวัตถุสำคัญคือ กระเบื้องเชิงชายทำเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทำเป็นรูปเทวดา เทพธิดา หลักฐานเหล่านี้ยืนยันอายุสมัยของวัดแห่งนี้ได้ว่ามีมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘

  วัดชมชื่น
               สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงระฆังก่อด้วยศิลาแลง วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ด้านหลังพระวิหารเชื่อมต่อกับมณฑป คล้ายเป็นห้องทึบอยู่ท้ายวิหาร หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปจั่วแหลม

               ถึงแม้รูปแบบปัจจุบันเป็นลักษณะของศิลปะสมัยสุโขทัย แต่จากการขุดแต่งบริเวณวิหารพบฐานอาคารเดิมก่อด้วยอิฐแต่ต่อมาถูกสร้างทับด้วยวิหารศิลาแลง จากการศึกษารูปแบบภายในเจดีย์ประธาน เชื่อว่าน่าจะเป็นปรางค์แบบขอมมาก่อน เนื่องจากพบอาคารสี่เหลี่ยมมีซุ้มคล้ายปรางค์แบบเขมรอยู่ภายใน
               จากการขุดค้นบริเวณด้านหน้าพระวิหารพบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์จำนวน ๑๕ โครง กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๙ เป็นต้นมา และพัฒนาจนถึงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖) พบกลุ่มโบราณสถานก่อด้วยอิฐที่มีขนาดใหญ่ ๒ กลุ่ม และพบเครื่องถ้วยเชลียงจำนวนมาก ซึ่งกำหนดอายุได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา จนเข้าสู่ชั้นสุโขทัยที่ร่วมสมัยกับวัดชมชื่น

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก

วัดป่ามะม่วง
               เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีจารึกหลักที่ ๖ ค้นพบในวัดป่ามะม่วง กล่าวถึงความสำคัญของวัดนี้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงออกผนวช และจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๕

               โบราณสถานวัดป่ามะม่วงปัจจุบันประกอบด้วยอุโบสถ (โบสถ์) ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานทรงระฆัง และเจดีย์รายต่างๆ และอยู่ไม่ไกลจากหอเทวาลัยมหาเกษตร ซึ่งเป็นที่ที่พบเทวรูปสำริดศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ฮินดู อาทิ พระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหม

  วัดสะพานหิน
               สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างทางเดินขึ้นเขา

               โบราณสถานที่สำคัญบนยอดเขา คือพระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานอภัย ขนาดใหญ่ ประดิษฐานภายในวิหาร ซึ่งน่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ที่กล่าวถึงเบื้องตะวันตกของเมืองสุโขทัยว่า “...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่ง ลุกยืน...”       และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ รูจาครี เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันพระข้างขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ

สรีดภงส์ (ทำนบพระร่วง)
               ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาประทักษ์ คนสุโขทัยในอดีตได้สร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ ระหว่างเขากิ่วอ้ายมากับเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง ๑๗ โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือ สรีดภงส์ ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกที่ ๑ น้ำจากสรีดภงส์จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคภายในเมืองสุโขทัย

               สรีดภงส์ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรง กว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้

 วัดเชตุพน
               สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ พระพุทธรูปสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ โดยสร้างอยู่ภายในมณฑปจตุรมุข องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา อันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม  ถัดไปทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุข  มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็กมีหลังคาก่ออิฐซ้อนกันขึ้นไป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีภาพจิตรกรรมเขียนสีดำเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา แสดงลักษณะแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน

               วัดเชตุพนยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ ถัดจากมณฑปจตุรมุขและมณฑปย่อมุมไปทางตะวันตก มีลานก่ออิฐสูงราว ๑ เมตร สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์

  วัดเจดีย์สี่ห้อง
               ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ และอยู่ใกล้กับวัดเชตุพน โบราณสถานล้อมรอบด้วยคูน้ำ ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ประธาน และเจดีย์รายต่าง ๆ

               สิ่งที่สำคัญของวัดคือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ เป็นรูปบุคคลสวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ กัน ในมือถือหม้อปูรณฆฏะหรือภาชนะที่มีพันธุ์พฤกษาโผล่ออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ รูปบุคคลที่กล่าวถึงนี้หากพิจารณาบริเวณศีรษะจะสังเกตเห็นร่องรอยนาคหลายเศียรแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง จึงแปลความได้ว่า คือ มนุษยนาค ซึ่งเป็นคตินิยมที่ได้รับมาจากลังกา นอกจากนี้ยังมีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับอยู่ด้วย

วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
               วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกตามชาวบ้านแต่เดิมว่า วัดตาเถรขึงหนัง ต่อมาได้พบศิลาจารึกที่ ๔๖ ปรากฏชื่อเรียกว่าวัดแห่งนี้ว่า ศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๙๔๗ โดยพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา มหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลง ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไท และเป็นพระราชมารดาของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ได้โปรดให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดนี้

               โบราณสถานล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีเจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มักมีฐานเตี้ย แต่เจดีย์ที่วัดนี้ตั้งอยู่บนฐานสูง มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงองค์ระฆังกลม ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบอัฒจรรย์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา