วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันออก

วัดตะพังทองหลาง
               สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย   ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐    วัดแห่งนี้มีความสำคัญมากในแง่ของสถาปัตยกรรมและประติมากรรม ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ มณฑป วิหาร เจดีย์ราย มีคูน้ำล้อมรอบ และอุโบสถ (โบสถ์)   วัดนี้ไม่มีเจดีย์ประธาน แต่ใช้มณฑปทำหน้าที่เสมือนเป็นเจดีย์ประธาน อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบหนึ่งของการสร้างวัดที่สุโขทัย
               มณฑปก่อด้วยอิฐเป็นอาคารในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ แต่ปัจจุบันชำรุดมากแล้ว ด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู   อีกสามด้านเป็นผนังที่ประดับด้วยปูนปั้นเป็นเรื่องตามพุทธประวัติ ได้แก่ ผนังด้านเหนือเป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าทรงทรมานช้างนาฬาคีรี ผนังด้านใต้เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรคชั้นดาวดึงส์ และผนังด้านตะวันตก เป็นภาพตอนพระพุทธเจ้าโปรดเทศนาสั่งสอนพวกศากยวงศ์ บรรดาภาพปูนปั้นเหล่านี้แสดงถึงลักษณะศิลปะสุโขทัยที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด หรือที่เรียกว่ายุคทองของศิลปะสุโขทัย ซึ่งอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐

  วัดเจดีย์สูง
               ชื่อของวัดเป็นชื่อเรียกโดยชาวบ้านตามลักษณะของเจดีย์ประธานที่มีความสูงถึง ๓๓ เมตร  ฐานเจดีย์กว้างด้านละ ๑๔ เมตร ส่วนฐานก่ออิฐเป็นแท่นสูงย่อมุมไม้ยี่สิบ ลักษณะคล้ายกับผนังของมณฑปแต่ก่อทึบทุกด้าน ส่วนยอดองค์เจดีย์เป็นทรงระฆังกลม มีบัลลังก์ และปล้องไฉน สภาพค่อนข้างสมบูรณ์
               วัดเจดีย์สูงน่าจะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แล้ว โดยดูจากลักษณะการทำฐานสูง และลักษณะขององค์เจดีย์    ก็พัฒนาการต่อมาจากเจดีย์จำลองทำด้วยสำริดที่ได้จากวัดสระศรี   เมืองสุโขทัยและเจดีย์เอน ที่เมืองศรีสัชนาลัย

วัดช้างล้อม
               ได้พบศิลาจารึกที่วัดนี้ เรียกว่า จารึกหลักที่๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวว่า พ่อนมไสดำผัวแม่นมเทด เป็นขุนนางที่จงรักภักดีต่อพระมหาธรรมราชาลิไท มีใจศรัทธาออกบวชตามพระมหาธรรมราชาลิไท และได้อุทิศที่ดินของตนสร้างวิหารในปีพุทธศักราช ๑๙๒๗ สร้างพระพุทธรูป หอพระไตรปิฎก ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ อุทิศบุญกุศลถวายแด่พระมหาธรรมราชาลิไทซึ่งเสด็จสวรรคตแล้ว และสร้างพระพุทธรูปหิน อุทิศบุญกุศลถวายแด่พระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไทที่ทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้วด้วย

               วัดช้างล้อมเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อาณาเขตของวัดมีคูน้ำล้อมรอบ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม ที่ฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม จำนวน ๓๒ เชือก มีลานประทักษิณโดยรอบ  มีวิหาร เจดีย์ราย และกำแพงแก้ว  นอกคูน้ำห่างไปทางตะวันออกมีอุโบสถ(โบสถ์) มีคูน้ำล้อมรอบแยกอีกต่างหาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น