วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานกลางเมือง

 วัดมหาธาตุ
               เป็นวัดสำคัญที่สุดตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัย  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่แรกเริ่มสถาปนาราชธานีสุโขทัย โดยพ่อขุน-ศรีอินทราทิตย์ เมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘    ภายในวัดประกอบด้วย กำแพงและคูน้ำล้อมรอบ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงยอดดอกบัวตูม วิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์รายมีจำนวนมากถึง ๒๐๐ องค์
               เจดีย์ประธานทรงยอดดอกบัวตูม เป็นเจดีย์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอิสระจากอำนาจของเขมร และความเป็นราชธานีแห่งแรกของราชอาณาจักรไทย    รอบเจดีย์ประธานรายล้อมด้วยปรางค์ทิศ ๔ องค์ ที่ยังคงแสดงอิทธิพลศิลปะขอม แต่ปูนปั้นประดับแสดงภาพพุทธประวัติที่ได้รับอิทธิพลศิลปะลังกา และเจดีย์ประจำมุมอีก ๔ องค์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ที่มีอิทธิพลของศิลปะล้านนารอบฐานเจดีย์ประธาน ประดับด้วยภาพปูนปั้นรูปพระสาวกในท่าอัญชุลีเดินประทักษิณโดยรอบจำนวน ๑๖๘ รูป
               เจดีย์ประธานนี้ขนาบข้างด้วยมณฑป ๒ หลัง ภายในประดิษฐาน พระอัฏฐารศ หรือพระพุทธรูปยืนสูง ๑๘ ศอก ด้านหน้าของเจดีย์ประธานเป็นที่ตั้งของพระวิหารหลวง สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ หรือพระพุทธรูปทองที่ปรากฏชื่อในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร หน้าวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของวิหารสูงสร้างในสมัยอยุธยา
               นอกจากนี้ด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ยังมีเจดีย์ขนาดใหญ่ เรียกว่าเจดีย์ห้ายอด ที่พบจารึกลานทอง ระบุเป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไทด้วย



 วัดศรีสวาย
               เป็นปราสาทแบบเขมรที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาก่อนการสถาปนาราชธานีสุโขทัย ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โบราณสถานสำคัญประกอบด้วยปรางค์ ๓ องค์ ที่มีรูปแบบศิลปะลพบุรีซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม แต่ลักษณะของปรางค์ค่อนข้างเพรียว ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ มีลวดลายปูนปั้นบางส่วนเหมือนลายบนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวนได้พบทับหลังสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ชิ้นส่วนของเทวรูปและพระพุทธรูป ส่วนด้านหน้าขององค์ปรางค์มีวิหาร ๒ หลังที่สร้างเชื่อมต่อกัน โบราณสถานทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพง ซึ่งก่อด้วยศิลาแลง ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จประพาสวัดศรีสวาย ทรงพบรูปพระสยุมภู (พระอิศวร) ในวิหารก็ทรงสันนิษฐานว่าวัดศรีสวายอาจเป็นเทวสถานทางศาสนาพราหมณ์ฮินดูแล้วแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาในภายหลัง

 วัดสระศรี
               เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย   ช่วงพุทธศตรรษที่ ๑๙ – ๒๐   ตั้งอยู่กลางสระน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชื่อว่า ตระพังตระกวน โบราณสถานสำคัญประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงระฆัง วิหาร อุโบสถ(โบสถ์) และเจดีย์รายขนาดต่างๆ รวม ๙ องค์
               เจดีย์ทรงระฆัง ของวัดเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการรับพุทธศาสนาจากลังกาของสุโขทัย บางครั้งจึงเรียกเจดีย์แบบนี้ว่า เจดีย์ทรงลังกา ส่วนอุโบสถ(โบสถ์) ที่อยู่กลางสระน้ำก็เป็นความเชื่อแบบพุทธศาสนา ที่ใช้น้ำในความหมายของความบริสุทธิ์ของขอบเขตที่กันไว้เป็นเขตสำหรับให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกว่านทีสีมา หรืออุทกสีมา

 วัดตระพังเงิน
               เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยราวพุทธศตรรษที่ ๒๐ วัดแห่งนี้ไม่มีกำแพงล้อมรอบ แต่อาศัยน้ำเป็นขอบเขตของวัด สำหรับคำว่า ตระพัง เป็นคำภาษาเขมร แปลว่า สระน้ำ

               โบราณสถานประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงดอกบัวตูม มีวิหารประกอบอยู่ด้านหน้า ลักษณะที่เด่นของเจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดนี้ คือ มีจระนำที่เรือนธาตุทั้งสี่ด้านสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปยืนและเดิน(ลีลา) ซึ่งแตกต่างไปจากเจดีย์ทรงดอกบัวตูมในที่อื่นๆ

               ด้านตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นเกาะมีอุโบสถ(โบสถ์) ตั้งอยู่กลางสระน้ำตามคตินทีสีมาหรืออุทกสีมาเช่นเดียวกับวัดสระศรี ที่ใช้น้ำในความหมายของความบริสุทธิ์ของขอบเขตที่กันไว้เป็นเขตสำหรับให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม

 วัดสรศักดิ์
               ได้พบศิลาจารึกที่วัดแห่งนี้ เรียกว่า จารึกวัดสรศักดิ์    กล่าวว่าเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๕๙    นายอินทสรศักดิ์ได้ขอพระราชทานที่ดินจากออกญาธรรมราชา เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น (พระมหาธรรมราชาที่ ๓) เพื่อสร้างอารามถวาย ครั้นสร้างสำเร็จแล้วจึงให้นิมนต์พระมหาเถรธรรมไตรโลกฯ จากตำบลดาวขอน ผู้เป็นน้าของออกญาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยให้มาจำพรรษาที่วัดนี้ด้วย

               ลักษณะเด่นของวัดนี้คือ มีเจดีย์ประธานทรงระฆัง หรือทรงลังกาที่มีช้างล้อมรอบฐาน โดยสร้างตามความเชื่อว่าช้างเป็นสัตว์มงคล เป็นพาหนะของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นช้างที่คอยค้ำโลกจักรวาล หรือค้ำชูพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนตลอด ๕,๐๐๐ ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น