วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตก

วัดป่ามะม่วง
               เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จารึกสมัยสุโขทัยหลายหลักกล่าวถึงป่ามะม่วง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองสุโขทัย มีจารึกหลักที่ ๖ ค้นพบในวัดป่ามะม่วง กล่าวถึงความสำคัญของวัดนี้ว่าพระมหาธรรมราชาลิไททรงออกผนวช และจำพรรษาที่วัดป่ามะม่วง เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๕

               โบราณสถานวัดป่ามะม่วงปัจจุบันประกอบด้วยอุโบสถ (โบสถ์) ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธานทรงระฆัง และเจดีย์รายต่างๆ และอยู่ไม่ไกลจากหอเทวาลัยมหาเกษตร ซึ่งเป็นที่ที่พบเทวรูปสำริดศิลปะสุโขทัยอันเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ฮินดู อาทิ พระนารายณ์ พระศิวะ และพระพรหม

  วัดสะพานหิน
               สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตั้งอยู่บนเนินเขาที่มีความสูงประมาณ ๒๐๐ เมตร ชื่อวัดเรียกตามลักษณะทางที่ปูลาดด้วยหินจากตีนเขาขึ้นไป มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูมขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างทางเดินขึ้นเขา

               โบราณสถานที่สำคัญบนยอดเขา คือพระพุทธรูปประทับยืน ปางประทานอภัย ขนาดใหญ่ ประดิษฐานภายในวิหาร ซึ่งน่าจะตรงกับที่ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ที่กล่าวถึงเบื้องตะวันตกของเมืองสุโขทัยว่า “...ในกลางอรัญญิก มีพิหารอันณึ่งมนใหญ่สูงงามแก่กม มีพระอัฎฐารศอันณึ่ง ลุกยืน...”       และน่าจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงทรงช้างเผือกชื่อ รูจาครี เพื่อไปนบพระในวัดนี้ทุกวันพระข้างขึ้นและแรม ๑๕ ค่ำ

สรีดภงส์ (ทำนบพระร่วง)
               ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาประทักษ์ คนสุโขทัยในอดีตได้สร้างคันดินกั้นน้ำขนาดใหญ่ ระหว่างเขากิ่วอ้ายมากับเขาพระบาทใหญ่อันเป็นที่รวมของน้ำจากโซกต่างๆ ตามบริเวณเขาถึง ๑๗ โซก เป็นคันดินสำหรับผันแปรทิศทางของน้ำที่เชื่อกันมาแต่เดิมว่าคือ สรีดภงส์ ที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกที่ ๑ น้ำจากสรีดภงส์จะถูกระบายไปตามคลองเสาหอ เพื่อเข้าไปใช้อุปโภคบริโภคภายในเมืองสุโขทัย

               สรีดภงส์ในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงขึ้นใหม่โดยกรมชลประทานร่วมกับกรมศิลปากร ให้มีความสูงและแข็งแรง กว่าเดิมสำหรับใช้กักเก็บน้ำ มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐๐ เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น