วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้

 วัดเชตุพน
               สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ พระพุทธรูปสี่อิริยาบถ (นั่ง นอน ยืน เดิน) ขนาดใหญ่ โดยสร้างอยู่ภายในมณฑปจตุรมุข องค์พระพุทธรูปปั้นโดยรอบผนังอิฐซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนรองรับหลังคา อันเป็นลักษณะที่พัฒนามาจากสถาปัตยกรรมของพม่าในเมืองพุกาม  ถัดไปทางด้านตะวันตกของมณฑปจตุรมุข  มีมณฑปย่อมุมไม้ยี่สิบขนาดเล็กมีหลังคาก่ออิฐซ้อนกันขึ้นไป ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย แต่ชำรุดมากแล้ว ที่ผนังด้านนอกมีภาพจิตรกรรมเขียนสีดำเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษา แสดงลักษณะแบบที่ปรากฏบนเครื่องถ้วยจีน

               วัดเชตุพนยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ กำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปจตุรมุขนี้สร้างจากหินชนวนที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยมีการสกัดและบากหินเพื่อทำเป็นกรอบและซี่กรงเลียนแบบเครื่องไม้ ถัดจากมณฑปจตุรมุขและมณฑปย่อมุมไปทางตะวันตก มีลานก่ออิฐสูงราว ๑ เมตร สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์

  วัดเจดีย์สี่ห้อง
               ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้ และอยู่ใกล้กับวัดเชตุพน โบราณสถานล้อมรอบด้วยคูน้ำ ประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ประธาน และเจดีย์รายต่าง ๆ

               สิ่งที่สำคัญของวัดคือ ที่ฐานเจดีย์ประธานมีภาพปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ เป็นรูปบุคคลสวมอาภรณ์และเครื่องประดับต่างๆ กัน ในมือถือหม้อปูรณฆฏะหรือภาชนะที่มีพันธุ์พฤกษาโผล่ออกมาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ รูปบุคคลที่กล่าวถึงนี้หากพิจารณาบริเวณศีรษะจะสังเกตเห็นร่องรอยนาคหลายเศียรแผ่พังพานอยู่ด้านหลัง จึงแปลความได้ว่า คือ มนุษยนาค ซึ่งเป็นคตินิยมที่ได้รับมาจากลังกา นอกจากนี้ยังมีปูนปั้นรูปช้างและสิงห์ประดับอยู่ด้วย

วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม
               วัดแห่งนี้มีชื่อเรียกตามชาวบ้านแต่เดิมว่า วัดตาเถรขึงหนัง ต่อมาได้พบศิลาจารึกที่ ๔๖ ปรากฏชื่อเรียกว่าวัดแห่งนี้ว่า ศรีพิจิตรกิรติกัลยาราม สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช ๑๙๔๗ โดยพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา มหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลง ซึ่งเป็นพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไท และเป็นพระราชมารดาของพระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ได้โปรดให้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากเมืองกำแพงเพชรมาอำนวยการสร้างวัดนี้

               โบราณสถานล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีเจดีย์ประธานเป็นทรงระฆังกลม ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบทั่วไปของสุโขทัยที่มักมีฐานเตี้ย แต่เจดีย์ที่วัดนี้ตั้งอยู่บนฐานสูง มีฐานเขียงสี่เหลี่ยมเรียบ ๓ ชั้น ต่อด้วยฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ แล้วจึงถึงองค์ระฆังกลม ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ได้พบอัฒจรรย์ คือลายบนพื้นเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก (ครึ่งวงกลม) มีลวดลายเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากศิลปะลังกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น